Search

พี่ขจี (4) - สยามรัฐ

matasblogs.blogspot.com

ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ชีวิตคนคือการค้นหา ชีวิตการศึกษาคือการค้นคว้า

พี่ขจีพูดเสมอว่า การศึกษาเมืองไทยที่ล้าหลังเพราะนักศึกษาของไทย “เรียนไม่เป็น” นักศึกษาไทยคุ้นเคยกับการเรียนแบบ “ป้อน” คือได้ความรู้ตามที่ผู้สอนป้อนให้ อย่างที่มาเรียนมหาวิทยาลัย หลายคนก็แค่เรียนให้จบๆ หรือบางคนอาจจะดีหน่อยที่ตั้งใจเรียน เพื่อให้ได้คะแนนดีๆ จะได้เอาไปสมัครงาน หรือสอบเข้าทำงานได้ง่ายๆ แต่ทุกคนก็เรียนตามที่อาจารย์บอกให้จดให้จำ ทำงานส่งเฉพาะที่อาจารย์สั่ง เพื่อเอาความรู้นั้นไปสอบให้ได้คะแนนและเรียนให้จบเท่านั้นเอง

พี่ขจีตั้งตัวเป็นอาจารย์เสียเอง โดยให้ผมเป็นลูกศิษย์ พี่ขจีเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ผมอยากมีอนาคตอย่างไร พอผมตอบว่าไม่แน่ใจ พี่ขจีก็คะยั้นคะยอว่าผมอยากเป็นอะไร ผมนึกอยู่นานกว่าจะตอบออกไปว่า ผมเรียนรัฐศาสตร์ก็คงไปเป็นปลัด เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าฯ อย่างนั้นมั้ง พี่ขจีดูเหมือนจะไม่พอใจแต่ก็พูดยิ้มๆ ว่า แล้วคนที่เป็นผู้ว่าฯเขามีหน้าที่ทำอะไร ผมก็ตอบว่า เขาก็ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน แก้ไขปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่น และสนองนโยบายของรัฐบาล

“ดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน แก้ไขปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่น สิ่งแรกที่ผู้ว่าฯต้องทำคืออะไร คิดได้แล้วค่อนมาคุยกับพี่” พี่ขจีชอบใช้คำขาดเสมอ เวลาที่ผมทำตัวเหมือนไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องต่างๆ

วันต่อมาพี่ขจีก็ทวงคำตอบที่ถามไว้นั้น ผมก็ตอบไปว่าผู้ว่าฯก็ต้องลงพื้นที่ ไปดูว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไร จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง พี่ขจีชมว่า ใช่แล้ว ถูกต้อง นี่สิผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง ทุกความรู้เริ่มจากการตั้งคำถาม ความเข้าใจในปัญหา แล้วค่อยค้นคว้าหาแนวทางที่จะแก้ปัญหา แม้แก้ได้แล้วก็ไม่ละเลยทอดทิ้ง เพราะปัญหาอาจจะกลับมาอีก หรือรุนแรงขึ้นอีก ต้องคอยปรับปรุง พัฒนา และทำให้ดีขึ้น

พี่ขจีบอกว่าเราไม่ควรรู้แต่ในเรื่องที่เราเรียนในสาขาวิชานั้นแต่เพียงอย่างเดียว เปรียบคนที่รู้เพียงอย่างเดียวนั้นว่า “พวกรู้ลึก” คือจมดิ่งเป็นท่อลงไปในความรู้นั้น แต่ข้างๆ คือความมืดของความไม่รู้เป็นขอบบ่อมาปิดกั้นไว้ ต่างจากคนที่รู้หลายๆ อย่าง ที่เรียกว่า “พวกรู้กว้าง” ที่จะมองไกลไปได้ทุกทิศทุกทางรอบด้าน ทั้งนี้ความรู้ที่สำคัญที่สุดก็คือความรู้รอบตัวเรา ความรู้ที่อยู่ในตัวคนรอบข้าง คนทุกคนมีประโยชน์และให้เราเรียนรู้ได้เสมอ บางคนอยู่กับปราชญ์กับคนที่มีประสบการณ์ แต่ไม่ได้ซึมซับเอาความรู้หรือประสบการณ์อะไรมาเลย คนพวกนี้เรียกว่า “ทัพพีที่ไม่รู้รสแกง” นับว่าเป็นคนที่แย่ที่สุด เพราะไม่ได้เปิดรับเอาอะไรเข้ามาสู่ตัวเองเลย

พี่ขจีชอบเรียนภาษา ไม่ใช่เพราะอยากคุยกับคนต่างชาติหรือเพื่อไปอยู่ในประเทศต่างๆ แต่ภาษานั้นคือรากฐานทางวัฒนธรรม ภาษาเป็นอารยธรรมแรกๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อการสื่อสารพูดคุยกันให้เข้าใจ เพื่อการเก็บรวบรวมและถ่ายทอดความรู้ ภาษาทำให้เราสืบทราบถึงความเป็นมาของชาติต่างๆ อารยธรรมต่างๆ พี่ขจีบอกว่าพี่ขจีได้ลองค้นคว้าภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาที่เก่าแก่และใช้แพร่หลายในยุโรป เป็นแก่นแกนของภาษาฝรั่งทั้งหลาย แล้วพอมาค้นคว้าเรื่องภาษาบาลีก็พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งตามประวัติศาสตร์บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวอารยันที่มีพื้นภูมิมาจากยุโรป ภาษาบาลีจึงมีคำหลายๆ คำที่พ้องกับภาษาละติน นอกจากนี้พี่ขจียังสนใจในภาษาของชนกลุ่มน้อย เป็นต้นว่า มอญ พม่า และเขมร ซึ่งก็ทำให้พี่ขจีมองเห็นความเป็นมาและเข้าใจในความเป็นไปของประเทศเหล่านั้น (ส่วนภาษาลาวพี่ขจีได้สอบถามจากผมซึ่งเป็นคนอีสาน แต่พี่ขจีบอกว่าเดี๋ยวพี่ขจีจะไปค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีของชาวลาวนั้นด้วย) ซึ่งคนที่เรียนรัฐศาสตร์อย่างผมก็ยังตามไม่ทัน เพราะพี่ขจีสามารถอธิบายการเมืองของพม่าและเขมรได้เป็นฉากๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นการอธิบายอย่าง “ได้รสชาติ” เพราะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของทั้งสองชาตินั้นด้วย

วันหนึ่งก่อนสิ้นปี 2519 พี่ขจีมีหน้าตาตื่นตกใจมาบอกกับผมว่า ทางบ้านจะเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แล้วให้เชิญผมไปร่วมด้วย จากสีหน้าท่าทางของพี่ขจีนั้นทำให้ผมมีความรู้สึกว่าคงไม่ใช่งานเลี้ยงสังสรรค์ตามปกติแน่นอน แต่ผมก็ตอบตกลง สถานที่เป็นภัตตาคารอาหารจีนแห่งหนึ่งแถวสามย่าน มีชื่อเสียงด้านปลาดิบจีนที่ชื่อว่าฮื่อแซ ขาห่านอบหม้อดิน และปลาไหลน้ำแดง โดยพี่ขจีมาแวะรับผมจากที่คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งพอผมขึ้นรถพี่ขจีก็นั่งเงียบไปตลอด เหมือนว่ากำลังมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น

น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับครอบครัวของพี่ขจีอย่างพร้อมหน้า ผมเข้าไหว้พ่อแม่และพี่ชายของพี่ขจีอย่างนอบน้อม เมื่อนั่งที่โต๊ะแล้ว แม่ของพี่ขจีก็พูดขึ้นเบาๆ ว่า ขอบคุณนะที่ดูแลกลาง(ชื่อเล่นของพี่ขจี) สักพักพ่อของพี่ขจีก็พูดขึ้นว่า ทานให้เสร็จก่อนแล้วค่อยพูดคุยกัน จากนั้นก็ถามผมเรื่องการเรียน เรื่องทางบ้าน และเรื่องอาหารการกิน จนกระทั่งบ๋อยมาเสิร์ฟอาหารจานสุดท้ายคือราดหน้าทะเลแบ่งให้ทุกคนแล้ว พี่ชายของพี่ขจีก็เปิดประเด็น

“เล็ก(ชื่อเล่นของน้องสาวพี่ขจีที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ด้วยกันกับผม)บอกว่าคุณเจอกับกลางทุกวันใช่ไหม” ผมพยักหน้ารับแต่ยังไม่ทันได้พูดอะไรก็ได้ยินคำถามอีกชุดว่า “มีอะไรกันไหม คนเขาร่ำลือไปมากมาย”

“กลางบอกแล้วว่าไม่มีอะไร” พี่ขจีเสียงดังขึ้นกลางวง

“เงียบนะกลาง ผู้ชายเขาจะคุยกัน” พี่ชายตัดบท แล้วการสนทนาแบบ “ชายกับชาย” ก็เป็นไปอย่างยืดยาว จนลืมทานราดหน้าถ้วยนั้น จนกระทั่งของหวานที่เป็นแปะก๊วยต้มนมสดก็ถูกวางไว้จนเย็น

โดยสรุปของการสนทนาก็คือ ผมถูกห้ามไม่ให้คบกับพี่ขจีอีกต่อไป เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของพี่ขจีไม่ให้เสียหาย รวมถึงชื่อเสียงของครอบครัวด้วย

ผมกล่าวขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนั้น ก่อนที่จะหันไปมองเพื่อส่งสายตาร่ำลาไปยังพี่ขจี พี่ขจีหันหน้าหนีไม่สบตาผม แล้วเดินร้องไห้เข้าไปในร้านอาหาร

เรายังติดต่อกันโดยจดหมาย และแอบพบกันที่บ้านเพื่อนของพี่ขจี

Let's block ads! (Why?)




August 01, 2020 at 12:10AM
https://ift.tt/31cOuqu

พี่ขจี (4) - สยามรัฐ

https://ift.tt/2ABr4S3


Bagikan Berita Ini

0 Response to "พี่ขจี (4) - สยามรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.