‘เดินได้แล้ว เดินได้แล้ว’ เสียงย่าดังลั่นอย่างดีใจเมื่อมีโทรศัพท์มาบอกข่าวดีว่าหลานสาววัยขวบเศษได้เริ่มก้าวเดินแล้ว
คนเราทุกคนเมื่อเกิดมาก็ต้องหัดเดิน และเมื่อเดินได้แล้วสองขานั้น ก็พาเราท่องไปในโลกกว้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นการท่องไปที่ไม่ได้ใช้พลังงานฟอสซิล ไม่ปล่อยสารมลพิษ ไม่ปล่อย PM 2.5 และไม่ทำให้โลกร้อน รวมทั้งได้สุขภาพดีมีสุขตามมาอีกด้วย
แต่ไม่รู้ทำไมคนที่บริหารบ้านเมืองของเราตลอดมา จึงทำให้เราซึ่งเดินได้กลายเป็นคนเดินไม่ได้หรือไม่เดิน ยิ่งไทยกำลังจะเป็นสังคมของคนสูงวัยเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปี หากทางเท้าไม่อำนวยให้ สว. เดินได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เขาก็จะกลายเป็น “คนติดบ้าน” ออกทำมาหากินไม่ได้ เป็นภาระแก่ลูกหลานอย่างไม่จำเป็น
สำหรับคนพิการยิ่งแล้วใหญ่ เข็นวีลแชร์ออกมาจากบ้านมาเจอทางเท้าไทยที่ขอบทางเท้าสูงขึ้นไม่ได้ ต้องจำใจเสี่ยงอันตรายไปใช้บนถนน สุดท้ายหลายคนก็เลิกออกจากบ้านเช่นกันกลายเป็นปัญหาสังคมที่เราทุกคนต้องช่วยกันแบกภาระทางอ้อมกันอยู่ทุกวันนี้
มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง เช่น สมาชิกของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้รณรงค์มาตั้งแต่เกือบ 30 ปีก่อน ขอให้รัฐโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครทำทางลาดที่ขอบทางเท้าให้คนพิการเข็นวีลแชร์ขึ้นได้ คนสูงอายุเดินได้ และคนทั่วไปก็เดินได้อย่างสะดวกขึ้น รณรงค์กันอยู่เป็นสิบปี ภาครัฐจึงเริ่มให้ความสนใจบ้าง (ต้องเติมคำว่า ‘บ้าง’ เพราะมันแค่ ‘บ้าง’ จริงๆ) และเริ่มมีการทำทางลาดที่ขอบทางเท้าให้แก่คนกรุงบ้าง
แต่ด้วยความสนใจเพียงแค่ ‘บ้าง’ และด้วยความเข้าใจผิดเห็นว่าเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ เขาจึงเพียงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างลงไปทุบขอบทางเท้าและทำทางลาดขึ้นในบางพื้นที่บางถนน ซึ่งบ่อยครั้งมันใช้ไม่ได้ มันอันตรายต่อการใช้ (ดูภาพที่ 1) จึงทำให้คนยังเดินไม่ได้และไม่เดินต่อไป
ภาพที่ 1 ทางลาดที่ขอบทางเท้ามีขอบด้านข้างที่ชันดิ่งซึ่งทำให้พลาดหกล้มได้
แต่กลุ่มคนพวกนั้นก็มิได้หยุดเพียงแค่นั้น ยังเพียรรณรงค์ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่รัฐ จนในที่สุดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและเริ่มมีการใช้งบประมาณที่มากพอจนทำให้ทางลาดนั้นเริ่มใช้ได้จริง (ดูภาพที่ 2) ซึ่งก็ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ในที่สุดก็ได้เริ่มทำสิ่งดีๆนี้ให้แก่ชาว กทม. แม้จะยังไม่ทั่วเมืองก็ตาม
ภาพที่ 2 ทางลาดที่ทางเท้า ที่ทำขึ้นได้อย่างถูกต้อง (ถนนประดิพัทธ์ ก.ค.2563)
ไม่ใช่ว่าได้คืบจะเอาศอกนะครับ แต่เราเห็นว่าสิ่งที่ทำมาดีนั้นยังดีขึ้นได้อีกมาก มากจนจะทำให้คนหันออกมาเดินกันมากขึ้น ซึ่งจะลดปัญหาจราจร ลดปัญหามลพิษได้มากขึ้น ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับตรงที่ถนนบ้านเรามีทางเข้าบ้านเข้าคอนโดฯลฯมากไป ซึ่งนั่นหมายความว่าหากทำแบบเดิมๆ เราก็จะมีช่องที่บากทางเท้าให้บ๋อมลงตรงทางเข้าอาคารนั้นๆ เป็นจำนวนมาก (ดูภาพที่ 3) ซึ่งนั่นหมายความต่อไปว่า คนเดินเท้าต้องเดินขึ้นก้าวลงในทุกๆ ที่ที่มีการบากช่องบ๋อมที่ว่านั้น ซึ่งอย่าว่าแต่คนพิการหรือคนสูงอายุเลย แม้แต่คนหนุ่มสาวปกติที่แข้งขาแข็งแรงก็ยังไม่รู้สึกอยากออกมาเดินบนทางเท้าแบบนี้
ภาพที่ 3 สังเกตจำนวนหรือความถี่ของช่องที่ทางเท้าบ๋อมลงเพื่อเป็นทางเข้าอาคาร ที่มากเกินไป
สิ่งที่เราอยากเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก ให้บ้านเมืองของเราเป็นเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ดังอารยะประเทศ คือการทำให้ทางเท้าของเราเดินได้ราบเรียบและต่อเนื่อง ไม่มีช่องบ๋อมของทางเท้าที่ตรงทางเข้าบ้านแต่ให้รถที่เข้าออกจากบ้านต้องเป็นฝ่ายไต่ขึ้น(ผ่านทางลาด)แล้ววิ่งเข้าบ้าน ซึ่งแน่นอนต้องไม่สะดวกแก่ฝ่ายขับรถ และเมื่อพูดถึงมาตรการแบบนี้ หลายคนคงคิดและนึกในใจว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ที่เจ้าของบ้านจะยอมทำเช่นนั้น และจะมีเสียงต่อต้านมากมายจนสิ่งที่เสนอนี้ทำไม่ได้
แล้วจริงๆ มันทำได้ไหมครับ อดใจรอดูที่ตอน 2 ครับ
โดย...
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
ชัยพร ภูผารัตน์
สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
ดูบทความทั้งหมดของ บทความพิเศษ
September 17, 2020 at 06:43AM
https://ift.tt/33y8KV2
เราเดินได้...แต่มันดันเดินไม่ได้นี่สิ (1) | บทความพิเศษ - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2ABr4S3
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เราเดินได้...แต่มันดันเดินไม่ได้นี่สิ (1) | บทความพิเศษ - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment